Horizon Europe

โครงการ Horizon Europe ถือเป็นกรอบโครงการความร่วมมือด้านการวิจัยและนวัตกรรมของสหภาพยุโรปฉบับที่ 9  ครอบคลุมตั้งแต่ปี ค.ศ. 2021 – 2027 โดยถือเป็นหนึ่งในโครงการวิจัยที่มีแหล่งเงินทุนในการวิจัยและพัฒนาที่ใหญ่ที่สุดในยุโรปและในระดับโลกด้วยงบประมาณจำนวน 1 แสนล้านยูโร โครงการ Horizon Europe สร้างจากพื้นฐานความสำเร็จของโครงการความร่วมมือด้านการวิจัยและนวัตกรรมฉบับปัจจุบัน ที่เรียกว่า Horizon 2020 (กรอบโครงการความร่วมมือด้านการวิจัยและนวัตกรรมของสหภาพยุโรปฉบับที่ 8) ซึ่งครอบคลุมตั้งแต่ปี ค.ศ. 2014 – 2020

โดยโครงการ Horizon Europe จะส่งเสริมความต่อเนื่องในการพัฒนาความเป็นเลิศทางวิทยาศาสตร์ผ่านโครงการวิจัยภายใต้สภาวิจัยยุโรป (European Research Council, ERC) และ โครงการ Marie Skłodowska-Curie action (MCSA) และจะได้รับประโยชน์ด้านคำแนะนำทางวิทยาศาสตร์ ความช่วยเหลือทางเทคนิค

1) งานวิจัยที่มีคุณค่าจากศูนย์วิจัยร่วม (Joint Research Centre, JRC) และการให้บริการด้านความรู้และวิทยาศาสตร์จากคณะกรรมาธิการยุโรป
2) ความท้าทายระดับโลกและความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมในยุโรป (Global Challenges and European Industrial Competitiveness) และ
3) นวัตกรรมแห่งยุโรป (Innovative Europe)

ซึ่งการทำงานใน 3 ด้านข้างต้นจะได้รับการสนับสนุนจากแผนงานเพื่อส่งเสริมและขยายการมีส่วนร่วมในโครงการวิจัยและเสริมสร้างความมั่นคงแข็งแรงของเขตวิจัยยุโรป (European Research Area, ERA)


Pillar 1: ความเป็นเลิศด้านวิทยาศาสตร์ (Excellent Science)
การทำงานของด้าน Excellent Science มีเป้าหมายในส่งเสริมความเป็นเลิศทางวิทยาศาสตร์ การสร้างและกระจายความรู้ ทักษะ เทคโนโลยี และแนวทางการแก้ปัญหาใหม่ ๆ รวมถึงการเข้าถึงและการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการวิจัยชั้นนำระดับโลก และส่งเสริมการฝึกอบรมและการแลกเปลี่ยนนักวิจัยเพื่อเพิ่มความน่าดึงดูดให้แก่  เขตวิจัยยุโรป (European Research Area, ERA) โดยการทำงานในด้าน Excellent Science จะประกอบไปด้วย 3 องค์ประกอบหลัก ต่อไปนี้

1.1 สภาวิจัยยุโรป (European Research Council, ERC) (Credit: ec.europa.eu)
สภาวิจัยยุโรปเป็นองค์กรแรกในยุโรปที่ให้ทุนด้านการวิจัยแก่นักวิทยาศาสตร์และนักวิชาการทั่วโลก โดยสภาวิจัยแห่งยุโรปให้ทุนการทำวิจัยในหลากหลายสาขาวิชา และนักวิจัยสามารถเลือกทำวิจัยในประเทศไหนก็ได้ในยุโรป โดยทุนจะครอบคลุมค่าใช้จ่ายของผู้สมัคร ค่าทำวิจัย ค่าเดินทาง ค่าอุปกรณ์ การทำวิจัยต่าง ๆ
ในแต่ละปี สภาวิจัยยุโรปจะคัดเลือกและให้ทุนแก่นักวิจัยที่มีความสามารถยอดเยี่ยมและสร้างสรรค์ โดยไม่จำกัดเชื้อชาติและอายุ เพื่อร่วมโครงการวิจัยเป็นเวลา 5 ปี ณ ประเทศใดก็ได้ในยุโรป สำหรับสภาวิจัยยุโรปภายใต้โครงการ Horizon Europe จะยังดำเนินการคัดเลือกและสนับสนุนทุนวิจัยให้แก่นักวิจัยหัวกะทิที่มีแนวคิดสร้างสรรค์ในสาขาต่าง ๆ โดยเฉพาะการวิจัยขั้นแนวหน้า (Frontier Research) ซึ่งส่วนมากเป็นการวิจัยขั้นพื้นฐานที่จะนำไปสู่การวิจัยเชิงประยุกต์ในสาขาใหม่ ๆ โดยคณะกรรมาธิการยุโรปมีแผนที่จะเพิ่มเงินสนับสนุนให้แก่สภาวิจัยแห่งยุโรปจากเดิม 1.31 หมื่นล้านยูโร เป็น 1.66 หมื่นล้านยูโร โดยรายละเอียดการสมัครขอรับทุนวิจัยสำหรับนักวิจัยจากประเทศนอกสมาชิกของสหภาพยุโรปสามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่ https://erc.europa.eu/funding/non-european-researchers

1.2 โครงการ Marie Skłodowska-Curie actions (MSCA) (Credit: ec.europa.eu)
โครงการ Marie Skłodowska-Curie actions (MSCA) ถือเป็นโครงสร้างสำคัญในด้านความเป็นเลิศทางวิทยาศาสตร์ของโครงการ Horizon 2020 ซึ่งพัฒนาต่อเนื่องมาจากโครงการ Marie Curie actions ซึ่งอยู่ภายใต้กรอบแผนงานฉบับที่ 7 ของสหภาพยุโรป ( Seventh Framework Program, FP7) และโครงการ MSCA นี้ยังจะยังดำเนินต่อไปภายใต้โครงการ Horizon Europe
โดยโครงการ MSCA จะมุ่งเน้นเปิดรับใบสมัครจากนักวิจัยทั่วโลกให้ไปทำวิจัยร่วมในหน่วยงานต่างประเทศ
โดยจะคัดเลือกให้ทุนแก่นักวิจัยที่มีคุณสมบัติดีเยี่ยม แสดงศักยภาพการพัฒนาอย่างเด่นชัด และมีโครงการวิจัยที่ดี
 
เป้าหมายหลักของโครงการ MSCA ก็คือต้องการส่งเสริมการพัฒนาทางอาชีพและการให้การอบรมแก่นักวิจัยในด้านวิทยาศาสตร์ทุกสาขาผ่านการแลกเปลี่ยนนักวิจัยระหว่างประเทศในระดับนานาชาติ และระหว่างสาขาต่าง ๆ กัน โดยงบประมาณของโครงการ MSCA ระหว่างปี ค.ศ. 2014 – 2020 อยู่ที่ 6,162 ล้านยูโร สำหรับงบประมาณ ระหว่างปี ค.ศ. 2021 – 2027 คณะกรรมาธิการยุโรปเสนอไว้ที่ 6,800 ล้านยูโร 
โดยโครงการ MSCA มีลักษณะสำคัญต่าง ๆ ดังนี้ โครงการ MSCA นั้นเปิดให้ทุนแก่งานวิจัยในทุกสาขาตั้งแต่การวิจัยขั้นพื้นฐาน จนไปถึงงานนวัตกรรมบริการ นอกจากนี้ยังมีลักษณะการดำเนินงานจากล่างสู่บน (bottom-up) โดยให้อิสระแก่นักวิจัย และองค์กรที่สมัครขอรับทุนเป็นผู้กำหนดและเสนอหัวข้อวิจัยที่นักวิจัยมีความสนใจได้ด้วยตนเอง อีกทั้งยังมีการผลักดันให้ภาคอุตสาหกรรม และภาคธุรกิจโดยเฉพาะวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมให้เข้ามามีส่วนรวมในการวิจัย การเคลื่อนย้ายบุคลากรจากประเทศหนึ่งไปอีกประเทศหนึ่งถือเป็นสิ่งสำคัญของโครงการ และท้ายสุดคือการให้ความเท่าเทียมต่อทุกเพศในการให้ทุนวิจัย
การให้ทุนวิจัยภายใต้โครงการ MSCA สามารถแบ่งออกได้เป็น 4 โปรแกรม ประกอบด้วย

1) MSCA Doctoral Networks
โครงการ MSCA Doctoral Networks ถูกพัฒนาขึ้นมาแทนที่โครงการ Innovative Training Networks (ITN) ซึ่งโครงการ MSCA Doctoral Networks จะมุ่งเน้นการสร้างดุษฎีบัณฑิตในสาขาต่าง ๆ ซึ่งรวมถึงการให้ทุนสำหรับหลักสูตรปริญญาเอกร่วมระหว่างหลายมหาวิทยาลัย หรือระหว่างมหาวิทยาลัยและภาคเอกชน โดยหน่วยงานในภาคส่วน ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นมหาวิทยาลัย สถาบันวิจัย ภาคเอกเชนซึ่งรวมถึง SMEs สามารถรวมกลุ่มกันเป็น consortium โดยจะต้องประกอบไปด้วยหน่วยงานอย่างน้อย 3 หน่วยงาน ซึ่งต้องตั้งอยู่ในประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป หรือประเทศในกลุ่ม associated countries เพื่อขอรับทุนในการจัดตั้งหลักสูตรปริญญาเอก โดยผู้ที่ได้รับทุนมาศึกษาในหลักสูตรดังกล่าวอย่างน้อย 1 รายจะต้องเป็นนักวิจัยในประเทศสมาชิกฯ 
โดยกลุ่มเป้าหมายหลักของการให้ทุนภายใต้โครงการ MSCA Doctoral Networks คือนักวิจัยที่ต้องการศึกษาต่อในระดับปริญญาเอก และยังไม่เคยได้รับปริญญาเอกมาก่อน โดยจะให้ทุนสำหรับหลักสูตรปริญญาเอกนี้สูงสุดไม่เกิน 48 เดือน และ 3- 36 เดือนสำหรับนักวิจัยที่จะได้รับทุนเพื่อเข้าร่วมในหลักสูตร สำหรับหลักสูตรที่มีการเข้าร่วมของภาคเอกชนจะได้รับทุนวิจัยที่สูงกว่า เพื่อส่งเสริมการเข้ามามีส่วนร่วมของภาคเอกชน และส่งเสริมการนำงานวิจัยไปประยุกต์ใช้ในภาคการผลิตและอุตสาหกรรม และการทำวิจัยในภาคเอกชนหรือภาคอุตสาหกรรมสามารถทำในประเทศเดียวกันกับหน่วยงาหลักที่นักวิจัยสมัครเข้าเป็นนักศึกษาปริญญาเอกได้
อีกหนึ่งเงื่อนไขสำคัญของการสมัครซึ่งจะเริ่มภายใต้โครงการ Horizon Europe เป็นครั้งแรก นั่นคือ ผู้ที่สมัครในปี ค.ศ. 2021 แล้วได้คะแนนการประเมินต่ำกว่าร้อยละ 80 จะไม่มีสิทธิในการสมัครขอรับทุนภายใต้โครงการMSCA Doctoral Networks ในปี ค.ศ. 2022 แต่จะสามารถสมัครได้อีกทีในปี ในปี ค.ศ. 2023 ทั้งนี้เพื่อใช้เป็นมาตรการในการจำกัดและคัดกรองข้อเสนอร่างโครงการที่มีคุณภาพ

2) MSCA Postdoctoral Fellowships
โครงการ MSCA Postdoctoral Fellowships ถูกพัฒนาขึ้นมาแทนที่โครงการ Individual Fellowships (IF) ซึ่งโครงการ MSCA Postdoctoral Fellowships ยังคงจะสนับสนุนนักวิจัยทุกเชื้อชาติในการเข้ามาดำเนินการวิจัยหลังปริญญาเอกในประเทศสมาชิกของสหภาพยุโรป เพื่อเก็บเกี่ยวความรู้ใหม่ ๆ ในการทำวิจัย และส่งเสริมการพัฒนาทางอาชีพของนักวิจัยทั้งในภาคการศึกษา และภาคธุรกิจ โดยจะมุ่งเน้นการส่งเสริมการวิจัยและการพัฒนานวัตกรรมแบบสหวิทยาการระหว่างภาคส่วนต่าง ๆ ในหลาย ๆ ประเทศทั่วโลก ในทุกสาขาการวิจัย 
สำหรับโครงการ MSCA Postdoctoral Fellowships นั้นสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 โครงการย่อย นั่นคือ โครงการ European Fellowships ซึ่งจะเปิดกว้างให้แก่นักวิจัยทุกเชื้อชาติในการเข้ามาดำเนินการวิจัยหลังปริญญาเอกในประเทศสมาชิกฯ หรือ ประเทศในกลุ่ม associated countries เป็นเวลา 12-24 เดือน และในทางกลับกันโครงการ Global Fellowships จะให้ทุนวิจัยแก่นักวิจัยของหน่วยงานที่ตั้งอยู่ในประเทศสมาชิกฯ หรือ ประเทศในกลุ่ม associated countries ไปทำวิจัยในประเทศไหนก็ได้ในโลก เป็นเวลา 12-24 เดือน และต้องกลับมาทำวิจัยในประเทศสมาชิกฯ หรือ ประเทศในกลุ่ม associated countries เป็นเวลา 12 เดือน โดยนักวิจัยที่ไปทำวิจัยในภาคเอกชนหรืออุตสาหกรรมจะได้รับทุนวิจัยสนับสนุนเพิ่มอีกสูงสุดไม่เกิน 6 เดือน

3) MSCA Staff Exchanges
โครงการ MSCA Staff Exchanges ถูกพัฒนาขึ้นมาแทนที่โครงการ Research and Innovation Staff Exchange (RISE) ซึ่งโครงการดังกล่าว ถือว่ามีการเข้าร่วมของหน่วยงานจากหลากหลายประเทศทั่วโลกมากที่สุด ภายใต้โครงการ MSCA ซึ่งโครงการ MSCA Staff Exchanges ยังจะคงสานต่อภารกิจการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศและระหว่างภาคส่วนผ่านการแลกเปลี่ยนบุคลากรในทุกสายงานที่เกี่ยวข้องกับการวิจัยและการพัฒนานวัตกรรมไม่ว่าจะเป็นนักวิจัย หรือบุคคลากรในกลุ่มงานบริหาร หรืองานเทคนิค โดยผลที่คาดหวังของโปรแกรมนี้คือ การแลกเปลี่ยนประสบการณ์ พร้อมกระชับความสัมพันธ์ และสร้างเครือข่ายระหว่างองค์กรต่าง ๆ ทั้งในภาคการศึกษา และภาคธุรกิจในยุโรป และระหว่างประเทศอื่น ๆ นอกยุโรป  โดยการเปลี่ยนแปลงที่แตกต่างไปจากโครงการ Research and Innovation Staff Exchange (RISE) นั่นคือ ภายใต้โครงการ MSCA Staff Exchanges บุคลากรที่ได้รับทุนมีโอกาสย้ายไปปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราวในยุโรปในสายงานอื่นที่ทำอยู่ในปัจจุบันได้ ในระยะเวลาที่ไม่เกิน 1 ใน 3 ของระยะเวลาการปฏิบัติงานในต่างประเทศ

4) COFUND
เป็นโปรแกรมที่มุ่งเน้นในด้านการอบรมนักวิจัย การแลกเปลี่ยนและเคลื่อนย้ายบุคลากร และการพัฒนาทางอาชีพในระดับภูมิภาค ประเทศ และนานาชาติ แต่อย่างไรก็ตามประเทศไทยไม่สามารถสมัครขอรับทุนในโปรแกรมนี้ได้โดยตรง แต่ทว่าสามารถมีบทบาทเป็นองค์กรพันธมิตรที่จะมาช่วยให้การอบรมแก่นักวิจัยที่ได้รับทุนได้

1.3 โครงการส่งเสริมโครงสร้างพื้นฐานการวิจัย (Research Infrastructures actions) Credit: ec.europa.eu
โครงการส่งเสริมโครงสร้างพื้นฐานการวิจัย มีเป้าหมายส่งเสริมการพัฒนาการบริการ ความรู้ และเครื่องมือที่ทันสมัยเพื่อใช้สำหรับการวิจัยในยุโรป โดยนักวิจัยที่เกี่ยวข้องกับโครงการ Horizon Europe จะสามารถเข้าถึงข้อมูลที่ถูกก็บรวบรวมภายใต้โครงสร้างพื้นฐานการวิจัยของยุโรป รวมถึงการเข้าถึงระบบการคำนวณประสิทธิภาพสูง (high performance computing, HPC) โดยงบประมาณที่คณะกรรมาธิการยุโรปเสนอไว้สำหรับโครงการส่งเสริมโครงสร้างพื้นฐานการวิจัยอยู่ที่ 2,400 ล้านยูโร
Pillar 2: ความท้าทายระดับโลกและความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมในยุโรป (Global Challenges and European Industrial Competitiveness)
การทำงานของด้าน Global Challenges and European Industrial Competitiveness จะเน้นสนับสนุนงานวิจัยที่ช่วยจัดการกับความท้าทายระดับโลก โดยเฉพาะให้มีความสอดคล้องและนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (SDGs) ได้ โดยมีการกำหนดพันธกิจหลักเพื่อมุ่งเน้นแก้ไขปัญหาและความท้าทายทางสังคม 5 ด้านได้แก่ 1) การปรับตัวเพื่อตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาวะภูมิอากาศ 2) โรคมะเร็ง 3) ทะเลและแหล่งน้ำสะอาด 4) เมืองอัจฉริยะและการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ และ 5) สุขภาพ อาหารและดิน ตลอดจนกระตุ้นขีดความสามารถภายในภูมิภาคยุโรป และมีการจัดแบ่งโครงการวิจัยเพื่อให้ทุนออกเป็น 6 คลัสเตอร์ดังนี้
 
1.สุขภาพ
ภายใต้คลัสเตอร์สุขภาพ จะสนับสนุนการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมเพื่อจัดการกับความท้าทายด้านสุขภาพและโรคต่าง ๆ ซึ่งหนึ่งหัวข้อที่คาดว่าจะได้รับความสำคัญอย่างมากคือ การจัดการกับโรคติดเชื้อ อย่างโรคโควิด-19 โดยจะให้ทุนวิจัยเพื่อศึกษาการทำงานของโรค การพัฒนาเทคนิคและเทคโนโลยีในการตรวจหาโรค และการพัฒนาวิธีการรักษา โดยมีการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาช่วยในการเข้าถึงการใช้งานและการประยุกต์ผลจากการวิจัยให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

2.วัตนธรรม ความคิดสร้างสรรค์ และการมีส่วนร่วมของสังคม
ภายใต้คลัสเตอร์นี้ จะมุ่งเน้นการส่งเสริมธรรมาภิบาลตามระบอบประชาธิปไตยและการมีส่วนร่วมของประชาชน การปกป้องและการส่งเสริมมรดกทางวัฒนธรรม และการตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคม เศรษฐกิจ เทคโนโลยี และวัฒนธรรม โดยเฉพาะในประเด็นความไม่เท่าเทียมทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง การพัฒนาทุนมนุษย์ และการเติบโตแบบทั่วถึงที่ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม

3.ความมั่นคงของพลเมืองเพื่อสังคม
คลัสเตอร์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนการปกป้องสหภาพยุโรปและประชาชนจากภัยคุกคามที่เกิดจากอาชญากรรมและการก่อการร้าย ซึ่งรวมถึงภัยและการก่ออาชญากรรมในโลกไซเบอร์ และการป้องกันสังคมจากผลกระทบของภัยธรรมชาติและภัยที่เกิดจากมนุษย์ โดยโครงการวิจัยที่จะได้รับทุนสนับสนุนจะต้องสามารถพัฒนาวิธีการรับมือกับภัยในปัจจุบันได้ ผ่านการพัฒนาองค์ความรู้และเทคโนโลยีที่ทันสมัย รวมไปถึงความสามารถในการคาดคะเนของการเกิดภัยพิบัติล่วงหน้า เพื่อจะได้เตรียมความพร้อมในการรับมือได้ทันทวงที

4.ดิจิทัล อุตสาหกรรม และอวกาศ
คลัสเตอร์นี้มีวัตถุประสงค์ในการส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล เทคโนโลยีอวกาศ และภูมิสารสนเทศในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคม รวมไปถึงการผลักดันการปฏิรูปโครงสร้างของอุตสาหกรรมยุโรปให้เป็นดิจิทัล เพื่อรักษาความเป็นผู้นำด้านอุตสาหกรรม และรักษาความเป็นอิสระและอำนาจอธิปไตยในการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและทรัพยากรได้อย่างให้เกิดประโยชน์สูงสุด นอกจากนี้จะผลักดันการพัฒนาอุตสาหกรรมหมุนเวียนที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระดับต่ำ และจัดการกับความท้าทายในประเด็นการพึ่งพาเทคโนโลยีและทรัพยากรจากระเทศอื่น ๆ และความขาดแคลนทางพลังงาน เป็นต้น

5. สภาพภูมิอากาศ พลังงาน และการขนส่ง
คลัสเตอร์นี้มีวัตถุประสงค์ในการจัดการกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในขณะที่ยังรักษาความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมพลังงานและอุตสาหกรรมขนส่งของยุโรปได้ โดยคณะกรรมาธิการยุโรปได้กำหนดเป้าหมายความเป็นกลางต่อสภาพภูมิอากาศ หรือ การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี ค.ศ. 2050 เพื่อให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของข้อตกลงปารีส (Paris Agreement) เพื่อรักษาอุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้นไม่เกิน 2° C และความพยายามที่จะให้อุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้นไม่เกิน 1.5°C  ดังนั้นโครงการวิจัยที่จะสนับสนุนจะต้องศึกษาถึงสาเหตุ วิวัฒนาการ ความเสี่ยง ผลกระทบ และโอกาสที่เกิดจากปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแต่ละประเภทได้ รวมไปถึงการพัฒนาระบบพลังงานและระบบขนส่งที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและสภาพภูมิอากาศ อัจฉริยะ ปลอดภัย ยืดหยุ่น แข่งขันได้ มีประสิทธิภาพ และมีส่วนร่วมจากประชาชนเพิ่มมากขึ้น

6.อาหาร เศรษฐกิจชีวภาพ ทรัพยากรธรรมชาติ เกษตรกรรม และสิ่งแวดล้อม
คลัสเตอร์นี้มีวัตถุประสงค์ในการส่งเสริมการใช้และจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน เช่น ความหลากหลายทางชีวภาพ น้ำ และดิน ด้วยเหตุนี้จึงจะมุ่งส่งเสริมโครงการวิจัยในประเด็นต่าง ๆ ต่อไปนี้ การผลิตขั้นปฐมภูมิอย่างยั่งยืน (เกษตรกรรม ป่าไม้ การประมง และการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ) ห่วงโซ่มูลค่า ระบบอาหาร อุตสาหกรรมชีวพื้นฐาน การรับมือและบรรเทาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และ การแก้ปัญหาจากการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ การเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อม และมลพิษ เพื่อให้มีความสอดคล้องและนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (SDGs) และวัตถุประสงค์ของข้อตกลงปารีส ปารีส (Paris Agreement) ได้ 

โดยงบประมาณที่คณะกรรมาธิการยุโรปเสนอไว้สำหรับโครงการวิจัยใน 6 คลัสเตอร์ อยู่ที่ 5.3 หมื่นล้านยูโร ซึ่งถือเป็นส่วนที่มีการจัดสรรงบประมาณสูงที่สุดภายใต้โครงการ Horizon Europe นอกจากนี้การทำงานของด้าน Global Challenges and European Industrial Competitiveness ยังรวมไปถึงศูนย์วิจัยร่วม (Joint Research Centre, JRC) ในสาขาต่าง ๆ ที่ตั้งอยู่ทั่วยุโรปเพื่อช่วยขับเคลื่อนงานวิจัยในด้านต่าง ๆ ตั้งแต่การสังเกตการณ์สิ่งแวดล้อม ความมั่นคงด้านอาหาร และมาตรการป้องกันความปลอดภัยในด้านต่าง ๆ  โดยผลที่ได้จากงานวิจัยจากศูนย์วิจัยร่วมจะถูกใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานในการพัฒนาและดำเนินการมาตรฐานต่าง ๆ ของสหภาพยุโรป


Pillar 3: นวัตกรรมแห่งยุโรป (Innovative Europe)
3.1) คณะกรรมการสภานวัตกรรมแห่งยุโรป (European Innovation Council, EIC) Credit: ec.europa.eu
โครงการ Horizon Europe ยังมีลักษณะเฉพาะเพิ่มขึ้นรวมถึงการเปิดตัวคณะกรรมการสภานวัตกรรมแห่งยุโรป (European Innovation Council, EIC) ซึ่งกำลังอยู่ในช่วงทดลองนำร่อง โดยสถาบันดังกล่าวจะเป็นจุดบริการแบบเบ็ดเสร็จจุดเดียว (one-stop shop) เพื่อนำนวัตกรรมผลงานวิจัยจากห้องปฏิบัติการสู่การใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ (from lab to market) และช่วยเหลือในด้านการขยายแนวคิดและธุรกิจ เพื่อการเติบโตแบบก้าวกระโดด (start-ups) และวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) โดยให้ความช่วยเหลือ 2 ระยะเวลาด้วยกันคือ 1) การเริ่มทำธุรกิจในระยะแรกเริ่ม และ 2) กลยุทธ์ทางการตลาด คณะกรรมการ EIC จะเป็นส่วนเติมเต็มของสถาบัน European Institute of Innovation and Technology (EIT) โดยงบประมาณที่คณะกรรมาธิการยุโรปเสนอไว้สำหรับโครงการภายใต้สภานวัตกรรมแห่งยุโรป (European Innovation Council, EIC) คือประมาณ 10,000 ล้านยูโร
 
3.2) ระบบนิเวศนวัตกรรมแห่งยุโรป (European Innovation Ecosystem) Credit: ec.europa.eu
ระบบนิเวศนวัตกรรมแห่งยุโรป หรือ European Innovation Ecosystem ภายใต้โครงการ Horizon Europe จะมุ่งเน้นการปรับระบบและโครงสร้างทางนวัตกรรมในยุโรปเพื่อส่งเสริมการทำงานของ คณะกรรมการสภานวัตกรรมแห่งยุโรป (EIC) โดยเฉพาะการพัฒนาระบบนิเวศนวัตกรรมที่อยู่บนพื้นฐานของความร่วมมือระหว่างทุกภาคส่วน เช่น ภาครัฐ สถาบันการศึกษา ภาคอุตสาหกรรม และภาคประชาสังคม เป็นต้น โดยจะดำเนินกิจกรรมที่ช่วยส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรม เช่น การจัดการฝึกอบรม หรือ การช่วยวางแผนการขยายแผนงานในการนำนวัตกรรมไปใช้อย่างกว้างขวาง เป็นต้น โดยงบประมาณที่คณะกรรมาธิการยุโรปเสนอไว้สำหรับ European Innovation Ecosystem คือประมาณ 500 ล้านยูโร
 
3.3) สถาบันนวัตกรรมและเทคโนโลยีแห่งยุโรป (European Institute of Innovation and Technology, EIT) Credit: ec.europa.eu
คณะกรรมาธิการยุโรปได้จัดตั้ง สถาบันนวัตกรรมและเทคโนโลยีแห่งยุโรป หรือ EIT เพื่อทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงภาคการศึกษา สถาบันวิจัย และภาคธุรกิจในเครือข่าย ทั่วภูมิภาคยุโรป โดยมุ่งเน้นการส่งเสริมให้บริษัทธุรกิจเอกชนในทุกอุตสาหกรรมเข้ามามีส่วนร่วมและลงทุนทำวิจัยร่วมกับมหาวิทยาลัย รวมถึงการส่งเสริมการศึกษาเพื่อพัฒนาความเป็นผู้ประกอบการ การจัดการอบรมในการพัฒนาโครงการนวัตกรรมและแผนธุรกิจ และการให้ความช่วยเหลือแก่วิสาหกิจเริ่มต้นและวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม โดยงบประมาณที่คณะกรรมาธิการยุโรปเสนอไว้สำหรับ European Institute of Innovation and Technology คือประมาณ 3,000 ล้านยูโร