GUIDELINES AND POLICIES

สหภาพยุโรปได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพประจำปี คศ. 2012 จากผลงานด้านการผลักดันให้เกิดสันติภาพในยุโรป
ข้อมูล 
ประเทศสมาชิกและเขตปกครองของประเทศสมาชิกในสหภาพยุโรป 27 ประเทศ ได้แก่ประกอบด้วย ออสเตรีย, เบลเยียม, บัลแกเรีย,โครเอเชีย, ไซปรัส, เซ็ก, เดนมาร์ก, เอสโตเนีย, ฟินแลนด์, ฝรั่งเศส, เยอรมนี, กรีซ, ฮังการี, ไอร์แลนด์, อิตาลี, ลัตเวีย,ลิทัวเนีย, ลักเซมเบิร์ก, มอลตา, เนเธอร์แลนด์, โปแลนด์, โปรตุเกส,โรมาเนีย, สโลวัก, สโลวิเนีย, สเปน และ สวีเดน

การปกครอง
แม้สหภาพยุโรปจะเป็นการรวมกลุ่มของรัฐหรือเป็นองค์การระหว่างประเทศ แต่โครงสร้างของสหภาพยุโรปนั้นมีลักษณะ “เหนือชาติ”  (supranational trait) อย่างชัดเจน ที่กล่าวเช่นนี้เพราะบรรดารัฐสมาชิกไม่เพียงรวมตัวกันเท่านั้น หากยังร่วมสร้างสรรค์สถาบันหรือหน่วยงานภายใน ซึ่งมีอำนาจเหนือรัฐสมาชิกรัฐใดรัฐหนึ่งโดยเฉพาะ อันประกอบไปด้วย คณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรป คณะกรรมาธิการยุโรป สภายุโรป และคณะมนตรียุโรป
สหภาพยุโรปมีความเข้มแข็งยิ่งขึ้นภายหลังสนธิสัญญาลิสบอนมีผลใช้บังคับ เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม ค.ศ. 2009 ซึ่งทำให้สหภาพยุโรปมีสถานะทางกฎหมายอย่างสมบูรณ์ สามารถจัดทำความตกลงกับต่างประเทศ เข้าเป็นภาคีอนุสัญญาระหว่างประเทศ และเป็นสมาชิกองค์การระหว่างประเทศได้
 
สถาบันหลักของสหภาพยุโรป
คณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรป (Council of the European Union)
สมาชิกคณะมนตรี ประกอบด้วยรัฐมนตรี หรือผู้แทนรัฐบาลจากทุกประเทศสมาชิก ในการประชุมแต่ละครั้งจะมีรัฐมนตรีผู้รับผิดชอบเรื่องนั้น ๆ เข้าร่วม รวมทั้งสิ้น 28 คน เช่น การต่างประเทศ เกษตรกรรม คมนาคม เศรษฐกิจและการเงิน และพลังงาน เป็นต้น หากเป็นการประชุมตัดสินใจประเด็นสำคัญ ๆ ก็จะเป็นการประชุมในระดับประมุขของประเทศ โดยจะมีการประชุมสุดยอดสี่ครั้งต่อปีเพื่อกำหนดทิศทางนโยบายของสหภาพยุโรป แต่ละประเทศจะมีเสียงโหวตแตกต่างกันตามสัดส่วนจำนวนประชากร การตัดสินใจส่วนใหญ่ใช้แบบเสียงข้างมาก ในขณะที่ประเด็นสำคัญจะใช้ระบบการโหวตแบบเอกฉันท์
คณะมนตรีถือเป็นองค์กรหลักในด้านนิติบัญญัติและด้านการตัดสินใจชี้ขาดของสหภาพยุโรป มีหน้าที่พิจารณาร่างกฎระเบียบของ EU และอนุมัติงบประมาณร่วมกับสภายุโรป) โดยจะประสานงานกับรัฐสภาในการพิจารณาร่างกฎหมายดังได้กล่าวแล้ว นอกจากนั้นยังเป็นผู้รับผิดชอบด้านนโยบายต่างประเทศและความมั่นคงร่วมกัน (CFSP: Common Foreign and Security Policy) รวมถึงภารกิจเกี่ยวกับการเปิดเสรีสินค้า บริการ เงินทุน รวมถึงประชาชน ตลอดจนกำกับดูแลการทำงานของคณะกรรมาธิการยุโรป และประสานงานเรื่องอื่นๆ ระหว่างประเทศสมาชิก EU ทั้งนี้ ประเทศสมาชิก EU จะผลัดกันทำหน้าที่เป็นประธานคณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรป วาระ 6 เดือน โดยจะทำหน้าที่ประธานในการประชุมระดับรัฐมนตรีของประเทศสมาชิก EU ในสาขาต่างๆ ยกเว้นในด้านการต่างประเทศซึ่งสนธิสัญญาลิสบอนกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของผู้แทนระดับสูงของ EU ด้านการต่างประเทศและนโยบายด้านความมั่นคง      
                  
คณะกรรมาธิการยุโรป (European Commission) 
คณะกรรมาธิการเป็นตัวแทนและปกป้องผลประโยชน์ของสหภาพยุโรป โดยเป็นอิสระจากรัฐบาลของแต่ละชาติ คณะกรรมาธิการประกอบด้วยกรรมาธิการ ๒๗ คนจากแต่ละประเทศสมาชิกตามความเชี่ยวชาญโดยจะทำงานร่วมกับข้าราชการราว 24,๐๐๐ คน มีสำนักงานอยู่ที่กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม ประธานคณะกรรมาธิการจะได้รับการเลือกจากรัฐบาลของประเทศสมาชิกและจะต้องได้รับการรับรองจากสภา ส่วนกรรมาธิการคนอื่น ๆ จะได้รับการแต่งตั้งจากรัฐสมาชิกและต้องได้รับการรับรองจากสภาเช่นกัน มีวาระคราวละ 5 ปี และได้รับการแต่งตั้งโดยคณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรป โดยความเห็นชอบของสภายุโรป (ซึ่งมีอำนาจลงมติไม่รับรองคณะผู้บริหารคณะกรรมาธิการยุโรปทั้งคณะ แต่ไม่มีอำนาจที่จะเลือกไม่รับรองกรรมาธิการเป็นรายบุคคล) ประธานคณะกรรมาธิการคนปัจจุบันคือ นายโฮเซ มานูเอล ดูเรา บาร์โรโซ (José Manuel Durao Barroso)
ภารกิจหลักของคณะกรรมาธิการคือการเสนอร่างกฎหมาย นอกจากนั้นยังดูแลการบริหารงบประมาณของสหภาพยุโรป กรรมาธิการแต่ละคนมีหน้าที่รับผิดชอบคนละด้าน แต่ละคนมีเจ้าหน้าที่และองค์กรย่อยอยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของตน เปรียบเทียบได้ว่ากรรมาธิการแต่ละคนคือรัฐมนตรีซึ่งต้องดูแลกระทรวง ทบวง กรมของตนนั่นเอง คณะผู้บริหารชุดปัจจุบันมีวาระการดำรงตำแหน่งระหว่างปี ค.ศ. 2014-2019
 
หน้าที่หลักของคณะกรรมาธิการยุโรป
1.ริเริ่มร่างกฎหมายและเสนอให้คณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรป และสภายุโรป (ในกรณีส่วนใหญ่) พิจารณาให้ความเห็นชอบก่อนที่ประเทศสมาชิก EU และ/หรือสถาบันของ EU ที่เกี่ยวข้องจะนำไปปฏิบัติ
2.ในฐานะที่เป็นฝ่ายบริหารของ EU มีหน้าที่ในการนำกฎหมาย การจัดสรรงบประมาณ และนโยบายระดับ EU ไปปฏิบัติ
3.พิทักษ์รักษาสนธิสัญญาต่างๆ และทำงานร่วมกับศาลยุติธรรมยุโรป ในการดูแลให้กฎหมาย EU ถูกนำไปใช้อย่างเหมาะสม
4.เป็นตัวแทนของ EU ใน เวทีการเมืองระหว่างประเทศ และทำหน้าที่ในการเจรจาต่อรองข้อตกลงระหว่างประเทศ โดยส่วนใหญ่จะเป็นการเจรจาในเรื่องการค้าและความร่วมมือระหว่างกัน
 
สภายุโรป (European Parliament)
สมาชิกสภายุโรปได้รับเลือกตั้งโดยตรงทุก ๆ 5 ปีจากแต่ละประเทศสมาชิก ปัจจุบันมีสมาชิก ๗๓๒ คนจาก ๒๗ ประเทศ โดยในจำนวนนี้เป็นผู้หญิงเกือบหนึ่งในสาม (๒๒๒ คน) แม้สมาชิกแต่ละคนจะมาจากรัฐสมาชิก แต่การจัดกลุ่มภายในรัฐสภานั้นไม่ได้แบ่งตามสัญชาติ แต่แบ่งโดยทิศทางของพรรคการเมือง กลุ่มที่มีขนาดใหญ่ที่สุดคือ พรรคประชาชนยุโรป (European’s People Party) และพรรคประชาธิปไตยยุโรป (European Democrats) ตามมาด้วยกลุ่มสังคมนิยม เสรีนิยม และอนุรักษ์ธรรมชาตินิยม (กรีน) ที่ทำการสภายุโรปตั้งอยู่ในสองเมืองคือ สทราซบูร์ (Strasbourg) ประเทศฝรั่งเศส และบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม โดยประธานสภาคนปัจจุบันคือ Hans Gert Pottering ชาวเยอรมัน
ภารกิจหลักของสภายุโรปจะเป็นการร่วมตัดสินใจกับคณะมนตรีในประเด็นต่าง ๆ ได้แก่ การพิจารณาร่างกฎหมายของสหภาพซึ่งริเริ่มโดยคณะกรรมาธิการ การอนุมัติงบประมาณของสหภาพยุโรป ให้การรับรองความตกลงระหว่างประเทศของสหภาพยุโรปกับประเทศนอกกลุ่ม และที่สำคัญที่สุดคือการให้การรับรองผู้ดำรงตำแหน่งในคณะกรรมาธิการยุโรป
สนธิสัญญาลิสบอนได้เพิ่มอำนาจให้กับสภายุโรปในการพิจารณารับรองร่างกฎระเบียบของ EU เพิ่มขึ้นกว่า ๕๐ สาขา ภายใต้ ‘co-decision procedure’ ทำให้สภายุโรปมีบทบาทเท่าเทียมกับคณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรปในการพิจารณารับรองกฎระเบียบของ EU ซึ่งครอบคลุมถึงความตกลงระหว่าง EU กับประเทศที่สาม อาทิ ความตกลงเขตการค้าเสรี กรอบความตกลงว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วนและความร่วมมือ (Partnership and Cooperation Agreement-PCA)
 
หน้าที่หลักของสภายุโรป
1.พิจารณาและรับรองกฎระเบียบของสหภาพยุโรปในสาขาที่ได้รับมอบหมายอำนาจตามที่ ระบุในสนธิสัญญาลิสบอน โดยใช้อำนาจร่วมกับคณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรป
2.อนุมัติงบประมาณของสหภาพยุโรป
3.ตรวจสอบการทำงานของสถาบันต่าง ๆ ในสหภาพยุโรปตามหลักประชาธิปไตย รวมทั้งจัดตั้งคณะกรรมการเพื่อทำการไต่สวน
4.ให้ความเห็นชอบข้อตกลงระหว่างประเทศที่สำคัญ เช่น การรับสมาชิกใหม่ และความตกลงด้านการค้าหรือการมีความสัมพันธ์ในเชิงการรวมกลุ่มระหว่างสหภาพ ยุโรปกับประเทศที่สาม 

คณะมนตรียุโรป (European Council)
นอกจากทั้ง 3 สถาบันข้างต้นแล้ว ยังมีคณะมนตรียุโรป (European Council) ซึ่งเป็นเวทีกประชุมของประมุขแห่งรัฐ/ผู้นำรัฐบาลของประเทศสมาชิก EU โดยมีการประชุมคณะมนตรียุโรปอย่างเป็นทางการปีละ 4 ครั้ง (ประธานคณะกรรมาธิการยุโรปเข้าร่วมการประชุมด้วยทุกครั้ง) โดยผู้นำ EU จะร่วมกันตัดสินใจในประเด็นด้านนโยบายที่สำคัญต่อ EU และแม้ว่าผลการประชุมของคณะมนตรียุโรปจะไม่มีผลบังคับทางกฎหมาย แต่ก็มีส่วนสำคัญอย่างมากในการกำหนดทิศทางและนโยบายทั้งกิจการภายใน EU และนโยบายต่างประเทศของ EU และเป็นกรอบปฏิบัติให้กับสถาบันอื่นๆ ของ EU 
สนธิสัญญาลิสบอนได้ให้สถานะทางกฎหมายแก่คณะมนตรียุโรป และมีการสร้างตำแหน่งใหม่ คือ ประธานคณะมนตรียุโรป (President of the European Council) ซึ่งมีวาระการดำรงตำแหน่ง 2 ปีครึ่ง และไม่เกิน 2 สมัย
ปัจจุบัน นาย นายโดนัลด์ ทัสค์(Donald Tusk) ได้รับการเลือกตั้งโดยฉันทามติจากรัฐสมาชิก EU ทั้ง 28ประเทศให้ดำรงตำแหน่งดังกล่าว 
 
หน้าที่หลักของประธานคณะมนตรียุโรป มีดังนี้
ทำหน้าที่ประธานในการประชุมคณะมนตรียุโรป (ที่ประชุมประมุขแห่งรัฐ/ผู้นำรัฐบาลของประเทศสมาชิก EU)
ทำหน้าที่ผู้แทน EU ในระดับประมุขแห่งรัฐ/ผู้นำรัฐบาลในด้านนโยบายร่วมด้านการต่างประเทศและความมั่นคง อาทิ ในการประชุมผู้นำระหว่าง EU กับประเทศอื่นๆ
ทำหน้าประธานในการประชุมผู้นำประเทศสมาชิกในเขตยูโร (Euro Summit)
 
สนธิสัญญาลิสบอน (Treaty of Lisbon)
มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม ค.ศ. 2009  
 
สาระสำคัญของสนธิสัญญา  
1) เป็นสนธิสัญญาระหว่างรัฐสมาชิก EU ที่ให้ความเห็นชอบในการสละอำนาจอธิปไตยบางส่วนให้แก่ความร่วมมือเหนือชาติ (supranational cooperation) โดยมาตรา 3 ของสนธิสัญญาระบุว่า EU มีอำนาจเบ็ดเสร็จ (exclusive competences) ในเรื่อง
สหภาพศุลกากร (customs union) 
การออกกฎระเบียบด้านการแข่งขัน (competition rules) ที่จำเป็นต่อการทำหน้าที่ของตลาดภายใน
นโยบายด้านการเงิน (monetary policy) สำหรับรัฐสมาชิก EU ที่ใช้สกุลเงินยูโร
การอนุรักษ์ทรัพยากรชีวภาพทางทะเล (marine biological resources) ภายใต้นโยบายร่วมด้านประมง และ
นโยบายการค้าร่วม (common commercial policy) 
2) สนธิสัญญาฯ กำหนดให้สร้างตำแหน่งผู้บริหารขึ้นใหม่ 2 ตำแหน่ง คือ 
ประธานคณะมนตรียุโรป (President of the European Council) (เทียบเท่าผู้นำรัฐบาล/ประมุขแห่งรัฐ)
ผู้แทนระดับสูงของสหภาพยุโรปด้านการต่างประเทศและนโยบายความมั่นคง (EU High Representative for Foreign Affairs and Security Policy (เทียบเท่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของ EU) มีหน้าที่
ดูแลเรื่องนโยบายต่างประเทศและความมั่นคงที่มาจากการตัดสินใจร่วมกันของ ประเทศสมาชิก และเป็นประธานในการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศของประเทศสมาชิก EU (แทนระบบประเทศสมาชิกผลัดกันเป็นประธาน วาระละ 6 เดือน)
ดำรงตำแหน่งรองประธานคณะกรรมาธิการยุโรปอีกตำแหน่ง โดยกำกับดูแลงานภายในคณะกรรมาธิการยุโรปที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่าง ประเทศ ยกเว้นการค้าระหว่างประเทศ การขยายสมาชิกภาพของ EU และ การให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและการบรรเทาภัยพิบัติ ซึ่งทำให้บุคคลที่รับหน้าที่นี้มีอำนาจหน้าที่ทั้งในคณะกรรมาธิการยุโรป และคณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรป Baroness Catherine Ashton (สัญชาติบริติช) ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้แทนระดับสูงของ EU ด้านการต่างประเทศฯ เป็นคนแรก 
ประเทศสมาชิก EU ยัง คงมีอำนาจในการดำเนินนโยบายต่างประเทศและนโยบายด้านการทหาร/ความมั่นคงเช่นเดิม โดยการสนับสนุนด้านทรัพยากรบุคคลทั้งพลเรือนและทหารแก่ EU เพื่อการดำเนินการด้านการป้องกันและความปลอดภัยร่วม (Common Security and Defense operations) ขึ้นอยู่กับความสมัครใจของแต่ละประเทศสมาชิก
3) สนธิสัญญาลิสบอนกำหนดให้มีการจัดตั้ง European External Action Service (EEAS) เพื่อทำหน้าที่เป็น “กระทรวงการต่างประเทศ” ของ EU โดยมีการคัดสรรบุคลากรจากกระทรวงการต่างประ เทศของประเทศสมาชิกและสถาบันอื่นๆ ของ EU มาปฏิบัติราชการเพื่อสนับสนุนการทำงานของผู้แทนระดับสูงของ EU ด้านการต่างประเทศ  
EEAS เริ่มปฏิบัติการเมื่อวันที่ 1 มกราคม ค.ศ. 2011 โดยขึ้นตรงต่อ Baroness Ashton และดำเนินงานเป็นอิสระจากคณะกรรมาธิการยุโรปและคณะมนตรียุโรป สำนักงานใหญ่ ณ กรุงบรัสเซลส์
การจัดตั้ง EEAS ส่งผลให้มีการเปลี่ยนแปลงชื่อเรียกของสำนักงานคณะผู้แทนคณะกรรมาธิการยุโรป เป็นสำนักงานคณะผู้แทน EU โดยอยู่ภายใต้สังกัด EEAS เอกอัครราชทูตและหัวหน้าคณะผู้แทน EU ทำหน้าที่เป็นผู้แทน EU ในการดำเนินนโยบายร่วมด้านการต่างประเทศและความมั่นคงกับประเทศที่สาม
 
อำนาจหน้าที่ของ EEAS   
ทำหน้าที่เป็นกระทรวงการต่างประเทศของ EU ในด้านนโยบายร่วมด้านการต่างประเทศและความมั่นคง
รับผิดชอบในเรื่องการยุติความขัดแย้งระหว่างประเทศและการสร้างสันติภาพ
ส่วนคณะกรรมาธิการยุโรปรับผิดชอบงานด้านการให้ความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนา พลังงาน การขยายสมาชิกภาพของ EU และการค้าระหว่างประเทศ
EEAS ภายใต้การนำของ Baroness Ashton ให้ความสำคัญเป็นพิเศษกับความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้านของ EU และความสัมพันธ์กับประเทศที่ EU มองว่ามีศักยภาพในด้านการเมืองและเศรษฐกิจ อาทิ บราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน แอฟริกาใต้ และสาธารณรัฐเกาหลี โดย EU กำหนดให้ประเทศเหล่านี้เป็น “หุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์” (strategic partners) นอกจากนั้น Baroness Ashton มีความสนใจจะขยายความร่วมมือกับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้โดยเฉพาะในกรอบ ASEAN และ ASEAN Regional Forum (ARF)
4) สนธิสัญญาลิสบอนเป็นสนธิสัญญาฉบับแรกที่ให้พื้นฐานทางกฎหมายแก่ EU ใน การดำเนินการด้านความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม โดยมีการระบุอย่างชัดเจนว่า การลดและขจัดความยากจนในประเทศที่สามเป็นวัตถุประสงค์สำคัญของนโยบายความ ร่วมมือเพื่อการพัฒนาของ EU อย่างไรก็ดี การดำเนินนโยบายนี้ยังขึ้นอยู่กับดุลพินิจของแต่ละประเทศสมาชิก EU เนื่องจากไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของนโยบายร่วมด้านการต่างประเทศและความมั่นคง
5) สนธิสัญญาลิสบอนให้ความสำคัญต่อสิ่งแวดล้อม และการจัดการปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ โดยกำหนดว่า เป้าหมายหนึ่งของ EU ได้แก่ การพัฒนาที่ยั่งยืนบนพื้นฐานของการปกป้องและพัฒนาคุณภาพของสิ่งแวดล้อม โดยการจัดการกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นเป้าหมายที่สำคัญ ประการหนึ่งภายใต้นโยบายด้านสิ่งแวดล้อมของ EU นอกจากนี้ สนธิสัญญาลิสบอนยังระบุว่า การพัฒนาที่ยั่งยืนเป็นเป้าหมายหนึ่งของ EU ในการดำเนินความสัมพันธ์กับประเทศที่สาม   
6) สนธิสัญญาลิสบอนได้กำหนดให้สภายุโรปมีบทบาทมากขึ้นเนื่องจากได้รับอำนาจมากขึ้นในการร่วมพิจารณาร่างกฎหมายของ EU เกือบทั้งหมด (ในกระบวนการ co-decision ร่วมกับคณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรป) เช่น เกษตรกรรม พลังงาน ความมั่นคง การตรวจคนเข้าเมือง ยุติธรรม มหาดไทย และสาธารณสุข สนธิสัญญาลิสบอนยังกำหนดให้สภายุโรปต้องหารือกับรัฐสภาของประเทศสมาชิก เกี่ยวกับร่างกฎหมาย ตั้งแต่เริ่มต้นกระบวนการพิจารณาร่างกฎหมาย ซึ่งจะทำให้การทำงานของ EU มีลักษณะเป็นประชาธิปไตย มากขึ้น และในขณะเดียวกัน จะมีความคาดหวังจากสภายุโรปสูงขึ้นเช่นกัน นอกจากนี้ มีการเพิ่มจำนวนสมาชิกสภายุโรปจากเดิมจำนวน 736 คน เป็นจำนวนไม่เกิน 750 คน โดยแต่ละประเทศสมาชิกจะมีสมาชิกสภายุโรปได้สูงสุดไม่เกิน 96 คน
 
ความสัมพันธ์ไทย-สหภาพยุโรป
ภาพรวม
ไทยให้ความสำคัญกับ EU เนื่องจากเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจและเป็นตลาดขนาดใหญ่ด้วยจำนวนประชากรประมาณ ๕๐๐ ล้านคน มีผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศปีละประมาณ 16,๐๐๐ พันล้านยูโร และเป็นภูมิภาคที่มีอำนาจซื้อสูงที่สุดในโลก EU จึง เป็นยักษ์ใหญ่ในเวทีการค้าโลกที่มีอำนาจต่อรองสูงและมีบทบาทในการกำหนดทิศ ทางการค้าระหว่างประเทศ โดยเป็นผู้นำด้านกฎระเบียบและนโยบายด้านการค้าและที่มิใช่การค้าที่สำคัญของ โลก (Global Standards Setter) 
 
สหภาพ ยุโรปให้ความสำคัญต่อไทยว่าเป็นหุ้นส่วนสำคัญของสหภาพยุโรปในภูมิภาคเอเชีย ตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะในมิติการเมืองและความมั่นคง โดยไทยมีบทบาทสำคัญในภูมิภาคเอเชียรวมทั้งในกรอบอื่นๆ เช่น อาเซียน-สหภาพยุโรป (ASEAN-EU) และในกรอบ ARF (ASEAN Regional Forum)                
ยุทธศาสตร์ไทยต่อ EU คือ การเน้นว่าไทยยึดมั่นในคุณค่าประชาธิปไตยและระบบการค้าเสรี เช่นเดียวกับ EUเพื่อให้ EU มีความเชื่อมั่นในเสถียรภาพและความต่อเนื่องของระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขของไทยและเพื่อให้เห็น ไทยเป็นหุ้นส่วนหลักในภูมิภาค ซึ่งจะช่วยในการขยายการค้า การลงทุนการท่องเที่ยว และการรับเทคโนโลยีและนวัตกรรมจาก EU และเพื่อส่งเสริมขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยในระยะยาว