ความร่วมมือกับสหภาพยุโรป
ความร่วมมือทางวิชาการในระดับทวิภาคีระหว่างไทยและ EU ดำเนินผ่านโครงการ Thailand-EC Cooperation Facility (TEC) ซึ่งได้รับการจัดสรรงบประมาณจากงบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของ EU สำหรับปี ค.ศ. 2007-2013 ในหมวด Development Cooperation Instrument (DCI)
ซึ่งเน้นเรื่องการให้ความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาแก่ประเทศกำลังพัฒนาในด้านต่าง ๆ อาทิ การขจัดความยากจน การส่งเสริมประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนและการพัฒนาอย่างยั่งยืน
โครงการ TEC
มีงบประมาณจำนวน 17 ล้านยูโร สำหรับการดำเนินงานระหว่าปี ค.ศ. 2007-2013 มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมความร่วมมือระหว่างไทยกับ EU ใน 4 ด้าน คือ
- การปรับตัวให้ทันพัฒนาการของกฎระเบียบการค้าของ EU
- วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และการศึกษา
- สิ่งแวดล้อม
- ธรรมาภิบาล การโยกย้ายถิ่นฐาน และสิทธิมนุษยชนรูปแบบความร่วมมือในโครงการ TEC แบ่งเป็น 2 รูปแบบ คือ
- Call for Proposal โดย EU ออกประกาศหัวข้อวิจัยให้หน่วยงานราชการและองค์กรที่ไม่แสวงผลกำไรของไทย เช่น สถาบันการศึกษา ยื่นข้อเสนอโครงการ และ
- Policy Dialogue โดย EU สนับ สนับสนุนข้อเสนอโครงการตามความประสงค์ของหน่วยงานราชการของไทยที่เกี่ยวข้องกับ 4 สาขาความร่วมมือข้างต้น อาทิ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เป็นต้น
ทิศทางความร่วมมือในอนาคต ภายใต้แผนงบประมาณด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของ EU ฉบับใหม่สำหรับปี ค.ศ. 2014-2020 ไทยจะพ้นสถานะจากประเทศที่ได้รับความช่วยเหลือผ่านหมวด Development Cooperation Instrument (DCI) (มีงบประมาณทั้งหมด 23,295 ล้านยูโร) สู่หมวด Partnership Instrument (PI) (มีงบประมาณทั้งหมด 1,131 ล้านยูโร) เช่นเดียวกับประเทศในกลุ่ม Upper Middle Income Countries อีก 16 ประเทศ (อาทิ จีน บราซิล มาเลเซีย) และกลุ่ม Lower Middle Income ที่มี GDP มากกว่าร้อยละ 1 ของ GDP ของโลก (อาทิ อินโดนีเซีย อินเดีย)
หมวด PI
จะเน้นความร่วมมือในลักษณะความเป็นหุ้นส่วน (Partnership) กับ EU ในประเด็นที่ EU ให้ความสำคัญ อาทิ การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ประชาธิปไตย และสิทธิมนุษยชน
ต่างจากหมวด DCI ซึ่งมีจุดประสงค์เพื่อการพัฒนาและขจัดความยากจนในประเทศผู้รับความช่วยเหลือ บนพื้นฐานความสัมพันธ์ระหว่างผู้ให้และผู้รับ (donor-recipient relationship) ขณะนี้ยังไม่แน่ชัดว่าภายใต้รูปแบบความร่วมมือรูปแบบใหม่ ไทยจะได้รับการจัดสรรงบประมาณความร่วมมือจำนวนเท่าใด และรูปแบบความร่วมมือจะเป็นไปในลักษณะใด
ความตกลงระหว่างไทยและสหภาพยุโรปที่อยู่ในระหว่างการพิจารณา
การเจรจาจัดทำกรอบความตกลงว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วนและความร่วมมือไทย – ประชาคมยุโรปและประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป (Framework Agreement on Comprehensive Partnership and Cooperation between Thailand and the European Community and its Member States – PCA) เป็น ความตกลงที่มีเนื้อหาครอบคลุมทุกมิติของความสัมพันธ์ อาทิ การเมือง เศรษฐกิจ สังคม การค้าการลงทุน การศึกษาและวัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พลังงาน การต่อต้านยาเสพติด และการต่อต้านการฟอกเงิน เป็นต้น โดยได้มีการเจรจารอบล่าสุด (รอบที่ 8) เมื่อวันที่ 27 มีนาคม ค.ศ. 2009 ณ กรุงเทพฯ ยังไม่ได้มีการลงนามความตกลงดังกล่าวเนื่องจากเหลือประเด็นติดค้างบางประเด็น หลังจากการเจรจารอบที่ 8 ทั้งสองฝ่ายได้มีการหารืออย่างไม่เป็นทางการอย่างสม่ำเสมอเพื่อให้บรรลุข้อ ตกลงและนำไปสู่การลงนามความตกลงได้ในอนาคต
การจัดทำความตกลงเขตการค้าเสรีไทย-สหภาพยุโรป (Thailand – EU Free Trade Area Agreement – FTA) เมื่อปี ค.ศ. 2009 ทั้งสองฝ่ายได้ประกาศหยุดพักการเจรจาเนื่องจากการเจรจาที่ผ่านมาไม่มีความก้าวหน้า EU จึงหันมาปรับแนวทางการเจรจาความตกลง FTA เป็น ระดับทวิภาคีกับประเทศสมาชิกอาเซียนที่มีความพร้อม เช่น สิงคโปร์ เวียดนาม มาเลเซียและไทย สำหรับไทยนั้น กระทรวงพาณิชย์ในฐานะหน่วยงานหลักของฝ่ายไทยอยู่ระหว่างดำเนินการตามขั้นตอน ภายในตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 โดยจะต้องขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีและรัฐสภาก่อนที่จะเริ่มการเจรจา FTA กับ EU