เกี่ยวกับสำนักงานที่ปรึกษาฯ ณ กรุงบรัสเซลส์

สำนักงานที่ปรึกษาด้านการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงบรัสเซลส์ (ชื่อเดิมสำนักงานที่ปรึกษาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี) ภายใต้สังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้รับการจัดตั้งเมื่อเดือนตุลาคม 2532 เพื่อดำเนินภารกิจในสหภาพยุโรป และมีเขตอาณาครอบคลุมถึงประเทศอื่นในภูมิภาคยุโรป เพื่อทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางการประสานงานและให้คำปรึกษาด้านการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ติดตามความก้าวหน้า การพัฒนาการดำเนินการตามพันธกรณีหรือความตกลงด้านการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ของประเทศในสหภาพยุโรป สร้างเครือข่ายนักวิชาชีพไทยและนักศึกษาไทยที่อยู่ในยุโรป ตลอดจนหน่วยงานในสหภาพยุโรปกับหน่วยงานในประเทศไทย เสริมสร้างความร่วมมือและแลกเปลี่ยนความรู้ทางวิชาการและการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากยุโรปสู่ประเทศไทย เพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย

“มุ่งประสานและผลักดันความร่วมมือและองค์ความรู้ด้านการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและการวิจัย จากภูมิภาคยุโรป ในการผลักดันให้เกิดความร่วมมือในการพัฒนา การบริการ การจ้างงาน สังคมและเศรษฐกิจของไทย”

หน้าที่ความรับผิดชอบ

    1. เป็นตัวแทนของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมในต่างประเทศในการติดต่อประสานงานและสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับหน่วยงานทั้งทางภาครัฐและภาคเอกชนที่มีภารกิจด้านการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ในเขตอาณาที่รับผิดชอบ เพื่อให้เกิดความร่วมมือในการพัฒนานโยบาย แผนงาน โครงการ ที่เกี่ยวข้องกับการแสวงหาข้อมูลองค์ความรู้ การแลกเปลี่ยนบุคลากร การวิจัยและพัฒนา และการฝึกอบรม
    2. ร่วมทำงานกับทีมประเทศไทยของเขตอาณาที่รับผิดชอบและหน่วยงานต่างประเทศของส่วนราชการอื่น และร่วมเป็นคณะผู้แทนไทยในการประชุมระหว่างประเทศเพื่อเจรจาความร่วมมือการพัฒนาเศรษฐกิจ การค้า การลงทุนที่มีเนื้อหาด้านการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมที่เกี่ยวข้อง
    3. ติดตามความเคลื่อนไหว ศึกษาวิเคราะห์ทิศทาง นโยบายและแนวทางในการพัฒนาประเทศที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงด้านการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ในภูมิภาคยุโรป ที่อาจจะส่งผลกระทบต่อการพัฒนาการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เพื่อสร้างความตระหนัก การเตรียมการ รวมถึงการแจ้งเตือน เกี่ยวกับประโยชน์และผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น
    4. ศึกษาวิเคราะห์ ให้ข้อเสนอแนะนโยบาย ติดตามและรายงานข้อมูลด้านการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศต่างๆ ในภูมิภาคยุโรป เพื่อใช้ประโยชน์ในการสนับสนุนการดำเนินงานของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หน่วยงานทีมประเทศไทยในพื้นที่เขตอาณา รวมทั้งชุมชนคนไทย นักวิชาชีพ นักเรียน และผู้สนใจทั่วไป
    5. แสวงหาความร่วมมือด้านการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและการวิจัย กับสถาบันการอุดมศึกษา องค์กร/หน่วยงานด้านการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและการวิจัย และสมาคมต่างๆ ในภูมิภาคยุโรป เพื่อผลักดันให้เกิดความร่วมมือในการพัฒนา ซึ่งจะส่งผลต่อการผลิต การบริการ การจ้างงาน สังคมและเศรษฐกิจของไทย

การดำเนินงานหลัก มีดังนี้

  • จัดทำแนวทาง ข้อเสนอแนะนโยบายด้านการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดยรวบรวมข้อมูลจากการพัฒนาด้านการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จากตัวอย่างความสำเร็จของประเทศในภูมิภาคยุโรป นำมาวิเคราะห์ สรุปมาตรการ เสนอต่อกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และหน่วยงานอื่น ๆ เพื่อเป็นแนวทางการพัฒนาด้านการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และเตรียมความพร้อมการสร้างความสามารถในการแข่งขันในช่วง 5-10 ปีข้างหน้า
  • เป็นผู้แทนหน่วยงานด้านการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมในประเทศไทยในการประชุมที่เกี่ยวข้องกับการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม การเจรจาที่สนับสนุนการส่งออกโดยมีประเด็นด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเกี่ยวข้องและการทำข้อตกลงระดับประเทศด้านการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ระหว่างประเทศในภูมิภาคยุโรปและประเทศไทย
  • เป็นผู้ประสานงานโครงการความร่วมมือด้านการวิจัยและนวัตกรรมของสหภาพยุโรป(Horizon Europe) และจัดการอบรมเชิงปฏิบัติการ ในการจัดทำข้อเสนอโครงการต่อกองทุนวิจัยของสหภาพยุโรป Horizon Europe (FP9)
  • สร้างความร่วมมือในการวิจัย พัฒนา และการประยุกต์ใช้ผลการวิจัย กับหน่วยงานและสมาคม นักวิชาชีพไทยในภูมิภาคยุโรป และประสานกับหน่วยงานในประเทศไทยเพื่อผลักดันให้เกิดความร่วมมือในการพัฒนา ซึ่งจะส่งผลต่อการพัฒนาการผลิต การบริการ การจ้างงาน สังคมและเศรษฐกิจของไทยปัจจุบันสำนักงานที่ปรึกษาด้านการอุดมศึกษาและวิทยาศาสตร์ฯ ทำงานประสานเชื่อมโยงกับหน่วยงานพันธมิตร ดังนี้
    • สมาคมนักวิชาชีพไทยในภูมิภาคยุโรป (Association of Thai Professionals in European Regions – ATPER)
    • สมาคมนักเรียนไทยในภูมิภาคยุโรป
    • สำนักความร่วมมือระหว่างประเทศและวิเทศสัมพันธ์ สำนักงานกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สม.สป.อว.)
    • ทีมประเทศไทยของสถานเอกอัครราชทูต ประจำ ณ ประเทศในสหภาพยุโรป และประเทศอื่นในภูมิภาคยุโรป ซึ่งประกอบด้วย สำนักที่ปรึกษาด้านเกษตร สำนักที่ปรึกษาด้านพาณิชย์ สำนักที่ปรึกษาด้าน BOI สำนักที่ปรึกษาด้านศุลกากร และ สำนักงานผู้ดูแลนักเรียนไทย ที่ตั้งอยู่ในภูมิภาคยุโรป
    • หน่วยงานของภาครัฐ สถาบันการศึกษา สถาบันวิจัย และภาคเอกชน ตลอดจน องค์กรระหว่างประเทศ เช่น คณะกรรมาธิการยุโรป (EU Commission) หน่วยงาน OECD Unesco และสมาคมธุรกิจ ที่ตั้งอยู่ในภูมิภาคยุโรป ซึ่งเกี่ยวข้องกับประเด็นวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมและ ผู้ประกอบการไทย ในประเด็น ที่เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ในภูมิภาคยุโรป
    • หน่วยงานในสังกัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม

แผนภาพการเชื่อมโยงภารกิจของสำนักงานที่ปรึกษาด้านการอุดมศึกษาและวิทยาศาสตร์
ณ กรุงบรัสเซลส์กับหน่วยงานพันธมิตรและหน่วยงานผู้รับบริการ

กรอบอัตรากำลังปัจจุบัน
1. ตำแหน่ง อัครราชทูตที่ปรึกษา (ฝ่ายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม) (อำนวยการต้น) 1 ตำแหน่ง
2. ตำแหน่ง พนักงานประสานงานทั่วไป (ลูกจ้างท้องถิ่น) 1 ตำแหน่ง 

การลดอัตรากำลังของสำนักงานที่ปรึกษาฯ ในปี พ.ศ. 2541 ส่งผลให้มีข้อจำกัดในการดำเนินภารกิจ เนื่องด้วยพื้นที่รับผิดชอบกว้างขวางมากขึ้น รวมเป็น 38 ประเทศในปัจจุบัน ด้วยความรับผิดชอบสูงขึ้น ปริมาณงานมากเกินกำลังคน ทำให้การปฏิบัติงานบางกิจกรรมขาดความต่อเนื่อง ซึ่งอาจทำให้เสียโอกาสและผลประโยชน์ของประเทศชาติ เช่น การสร้างความร่วมมือตามกรอบแผนงานการวิจัยพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมของสหภาพยุโรป ซึ่งผู้ประสานงานหลักของไทยไม่สามารถเดินทางมาเจรจาหรือประสานงานกับหน่วยงานในภูมิภาคยุโรปได้ทุกครั้ง สำนักงานที่ปรึกษาฯ จึงอาจต้องทำหน้าที่นั้นแทน ต่อมาสำนักงานฯ ได้ดำเนินการจัดจ้างเจ้าหน้าที่โครงการเพื่อดำเนินงานกิจกรรมภายใต้โครงการการดำเนินภารกิจ (ทีมประเทศไทย) ดังนี้

เจ้าหน้าที่โครงการ
1. ตำแหน่ง ที่ปรึกษาโครงการฯ (จ้างเหมาบริการ) 1 ตำแหน่ง
2. ตำแหน่ง ผู้ช่วยดำเนินการ (ด้าน วทน.) (จ้างเหมาบริการ) 1 ตำแหน่ง